จังหวัด ภูเก็ต

ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม

 
 

เมนูหลัก
การบริหารราชการจังหวัด
ระบบฐานข้อมูล
ข้อมูล/สถิติ น่ารู้
สนับสนุนการปฏิบัติราชการ
คุณธรรมและความโปร่งใส

เกลียวคลื่น...กลืนชีวิต!! หนีรอดได้หากเข้าใจ

          อากาศร้อนแบบนี้หลายคนคงคิดอยากจะเดินทางไปเที่ยวทะเลลงเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่บุตรหลานปิดเทอม แต่ติดตรงที่ล่าสุดมีข่าวสลดใจ นักศึกษาจมน้ำเสียชีวิตที่ทะเลหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ซึ่งในทุก ๆ ปีมักจะมีข่าวร้ายนักท่องเที่ยวถูกคลื่นซัดจมหายเสียชีวิตที่นี่เป็นประจำ จึงยังกังวลอยู่ว่าจะไปดีหรือไม่ ถ้าไปแล้วเกิดประสบพบเจอจะทำอย่างไร ?  

          รศ.อัปสรสุดา ศิริพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงปรากฏการณ์อันเป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวว่า ปรากฏการณ์คลื่นซัดร่างจมหายไปในทะเลนั้น มีชื่อเรียกว่า ปรากฏการณ์ริบ เคอร์เรนท์ (Rip Current) คำว่า ริบ เคอร์เรนท์ (Rip Current) ถ้าแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวก็คือ “กระแสน้ำรูปเห็ด” ซึ่งมีคนเข้าใจผิดว่า คือ ทะเลดูด ความจริงแล้วไม่ใช่ เนื่องจากทะเลดูดจะดูดสิ่งต่าง ๆ จากผิวน้ำลงไปใต้น้ำ แต่กระแสน้ำรูปเห็ดนี้จะเกิดขึ้นบนผิวน้ำและใกล้ชายฝั่งมีรูปร่างคล้ายดอกเห็ดจึงเรียกกันว่า Rip Current หรือ กระแสน้ำรูปเห็ด กระแสน้ำใกล้ชายฝั่งมี 2 ประเภท ได้แก่ กระแสน้ำรูปเห็ด ไหลตั้งฉากกับฝั่งทะเลออกไป  สู่ทะเลลึก และ กระแสน้ำเลียบ ชายฝั่ง ไหลขนานกับฝั่งทะเล การเกิดกระแสน้ำรูปเห็ดนี้จะมองเห็นได้จากในที่สูงเป็นลำกว้างประมาณ 5-10 เมตร มีความเร็วประมาณ 8 กม./ชม. โดยขึ้นอยู่กับความสูงของคลื่น รูปร่างและความลาดชันของฝั่งทะเล รวมทั้งขนาดของตะกอน และสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินรอดักตะกอน โดยจะเกิดขึ้นบริเวณไม่ไกลจากริมฝั่ง ทำให้ผู้ที่ลงเล่นน้ำใกล้ฝั่งตกใจ เนื่องจากเมื่อเข้าไปในบริเวณลำของกระแสน้ำรูปเห็ดจะถูกกระแสน้ำพาเอาออกไปไกลจากฝั่งสู่น้ำลึกอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ว่ายน้ำไม่แข็งจะจมน้ำเสียชีวิตได้


          กระแสน้ำที่เกิดโดยคลื่นใกล้ฝั่งมีหลายชนิด แต่บริเวณที่ก่อให้เกิด Rip Current คือบริเวณ โซนคลื่นแตก จะอยู่บริเวณใกล้ฝั่ง ในเวลาที่คลื่นเดินทางมาใกล้ฝั่งจะมีความสูงมากขึ้น เนื่องจากมันจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อให้เกิดการสมดุล ถ้าหากความสูงของ คลื่นมากกว่า 7 เท่าของความยาวคลื่น หรือ ความลึกของน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวคลื่น คลื่นก็จะแตก เพราะไม่มีความสมดุลของพลังงาน

          เราสามารถทราบว่าเกิดกระแสน้ำรูปเห็ดขึ้นได้อย่างไร ให้สังเกตสีของน้ำทะเล เพราะมันเป็นกระแสน้ำที่พาเอาตะกอน ออกไปนอกชายฝั่ง บริเวณกระแส น้ำ จึงมีความขุ่นแตกต่างไปจากน้ำทะเลทั่ว ๆ ไป มีการไหลวน  ปั่นป่วนเพราะความแรงและมีลักษณะคล้ายรูปดอกเห็ด โดยมีลำต้นยื่นจากชายฝั่ง ส่วนที่เป็นหมวกเห็ดยื่นไปในทะเลลึก ขนาด ยิ่งใหญ่และยิ่งไกลก็ยิ่งแรงมาก

          รศ.อัปสรสุดา ให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า เมื่อใดก็ตามที่ กระแสน้ำไหลเข้าสู่ฝั่งแล้วถูกกีดขวางจากสิ่งต่าง ๆ เช่น โขดหิน หรือสันทราย ไม่ให้ไหลกลับสู่ท้องทะเลได้สะดวก เมื่อมีช่องว่างกระแสน้ำก็สามารถไหลกลับได้ ยิ่งเป็นร่องแคบ ๆ น้ำก็ยิ่งจะไหลแรง ถ้าช่องกว้างน้ำจะไหลช้าและกระจายออกไป ซึ่งความเร็วและความแรงขึ้นอยู่กับรูปร่าง ความสูงของคลื่นและความลาดชันของชายหาด บางทีไม่ถึงกับตั้งฉากเสียทีเดียว ในประเทศไทยบริเวณที่เกิดการจมน้ำตายจาก กระแสน้ำนี้ประจำ ได้แก่ ที่หาดสุรินทร์ จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากหาดลาดชันมาก ถ้าเปรียบเทียบกับหาดแม่รำพึงแล้วพบว่าหาดแม่รำพึงยังชันน้อยกว่ามาก

          กระแสน้ำนี้สามารถเกิดได้ตลอดเวลา โดยขึ้นอยู่กับความแรงของลม ความสูงของคลื่น ความลาดชันของชายหาด บางครั้งอาจจะขึ้นอยู่กับสภาพลมฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมด้วยที่เป็นตัวเพิ่มความแรงของกระแสน้ำ ซึ่งลมมรสุมที่พัดผ่านเข้าสู่หน้าหาดแต่ละหาดจะแตกต่าง  กันไป เช่น ชลบุรี ระยองและฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภูเก็ต กระแสน้ำรูปเห็ดตามปกติจะแรงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมจะแรงสุด ช่วงที่มีผู้เสียชีวิตล่าสุดเมื่อต้นเดือน กุมภาพันธ์นี้ ที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เป็นช่วงที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ    ซึ่งตามปกติจะแรงทางฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้จากจังหวัดเพชรบุรี ถึงจังหวัดนราธิวาส   จะเห็นการกัดเซาะชายฝั่งมาก คลื่นลมแรงเป็นบางช่วงในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดสู่อ่าวไทย มีผลทำให้เกิดกระแสน้ำรูปเห็ดที่จังหวัดระยองได้

          การเสียชีวิตจากการเกิดกระแสน้ำ Rip Current ในต่างประเทศจะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าประเทศเรามาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดในทุก ๆ ปีประมาณ 100 กว่าคน ทำให้ประเทศเขามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือรวมทั้งติดป้ายประกาศเตือน นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยว กับ Rip Current แก่สาธารณชนด้วย รวมทั้งมีการพยากรณ์ช่วงเวลาและชายหาดที่น่าจะเกิดกระแสน้ำนี้ขึ้นเพื่อเตือนนักท่องเที่ยว

          เราสามารถลงเล่นน้ำทะเลได้ หากรู้จักป้องกันและช่วยเหลือ ตัวเอง โดยอย่าเล่นตามลำพังเพียงคนเดียว ควรชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องลงเล่นด้วยหลาย ๆ คนและไม่ควรว่ายน้ำแยกตัวออกไปเล่นไกลจากกลุ่มหรือถ้าหากตรวจสอบหรือพบว่าสภาพลมฟ้าอากาศไม่สู้ดี เช่น มีลมแรง หรือคลื่นสูงและมีกระแสน้ำลักษณะรูปเห็ดถ้าไม่แน่ใจไม่สมควรลงเล่น น้ำอย่างเด็ดขาดถ้าลงเล่นน้ำแล้วพบว่ามีกระแสน้ำผลักดันตัวเราอย่างแรงและเร็วให้ออกไปนอกฝั่ง ก่อนอื่นเราต้องมีสติอย่าตกใจกลัวจนทำอะไรไม่ถูก ให้สังเกตว่าฝั่งทะเลอยู่ทางทิศใดและว่ายออกด้านข้างขนานกับชายฝั่ง เมื่อพ้นจากบริเวณลำแคบ ๆ ของกระแส น้ำที่พาเราออกไปนอกชายฝั่งแล้ว คลื่นนอกบริเวณกระแสน้ำรูปเห็ดก็จะพาเรากลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย

          ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ตกอยู่ในวงจรของกระแสน้ำรูปเห็ดเกือบเอาชีวิตไม่รอด ปิยรัตน์ วงศ์พานิช นักศึกษาปี 4 มหา วิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เล่าถึง ประสบการณ์ที่ไม่เคยลืมเลือนว่าช่วงปิดเทอมทุกครั้งครอบครัวชอบไปเที่ยวทะเลที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เนื่องจากเดินทางไปมาสะดวก อาหารทะเลสด และน้ำจิ้มรสชาติอร่อย จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำของ  ครอบครัว ล่าสุดเมื่อช่วงปิดเทอมปีที่ผ่านมาครอบครัวได้เดินทางไปเล่นน้ำทะเลกันตามปกติ มีคุณแม่ น้องสาวและลูกพี่ลูกน้องอีกสองคน เช่าห่วงยางขนาดใหญ่ลงไปเล่นน้ำบริเวณเดิมที่เคยเล่นทุกครั้ง เมื่อเล่นน้ำกันจนเหนื่อยและกำลังพากันว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่แล้วเหตุ การณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เราพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่งเท่าไหร่ก็ไม่ถึงเสียที ยิ่งว่ายเหมือนยิ่งไกลออกไป ทั้งที่ริมหาดไม่ได้อยู่ห่างไกล จากนั้นเริ่มมีคลื่นลมกระโชกแรง พวกเราเห็นท่าไม่ค่อยดีจึงรีบตะเกียกตะกายว่ายน้ำเข้าฝั่งแต่คลื่นกลับสูงขึ้น ๆ โถมและซัดเข้าใส่จนไกลออกไปอีก จึงเกาะห่วงยางไว้ด้วยกัน เพื่อให้อยู่เป็นกลุ่มแล้วร้องตะโกนให้คนช่วยแต่ก็ไม่มีใครได้ยินช่วงนี้เราหมดแรงและกำลังจะจมน้ำ เป็นจังหวะที่ชาวเลคนหนึ่งหันมาเห็น เขาตะโกน บอกว่าให้ลอยคออยู่นิ่ง ๆ พร้อมกับแนะนำให้ปล่อยห่วงยางไป จากนั้นเขาก็เดินลงทะเลมาช่วย นับว่าโชคดีมากที่พวกเราทุกคนปลอดภัย หลังจากขึ้นมาบนชายหาด ชาวเลคนเดิมเล่าให้ฟังว่าตรงนี้มีคนตายบ่อยมาก เพราะข้างล่างมันมีโขดหินลึกเป็นแอ่ง คนไม่รู้หลุดเข้าไปแล้วว่ายทวนน้ำจนหมดแรงจมน้ำตาย พร้อมกับสอนว่าหากเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกต้องรีบทิ้งห่วงยางทันที เพราะห่วงยางมันจะยิ่งดูดซัดให้เราไกลออกไปมากยิ่งขึ้น

          เมื่อรู้จักกระแสน้ำมรณะลูกนี้เป็นอย่างดีแล้วไม่ต้องกลัวมันจะคร่าชีวิตเราอีกต่อไป เพียงแค่มีสติและปฏิบัติตามคำแนะนำเท่านั้นพอ ก็สามารถเผชิญกับกระแสน้ำรูปเห็ดได้อย่างปลอดภัย หวังว่าปิดเทอมคราวนี้คงจะเที่ยวทะเลกันอย่างสนุกสนานชื่นฉ่ำหัวใจ...และปลอดภัย กันทุกคน.

ที่มา : เดลินิวส์...ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2552

Link : http://cpn.disaster.go.th/knowledge/001.htm

witter

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ร้องเรียนร้องทุกข์ เว็บไซต์ที่สำคัญ แนะนำเว็บไซต์ เรื่องน่ารู้
▫ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต
▫ ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย
▫ แจ้งเบาะแส สำนักงานตำรวจ
▫ แจ้งเว็บผิดกฎหมาย
▫ ร้องเรียน-แจ้งเบาะแส ยาเสพติด
▫ มติคณะรัฐมนตรี
▫ ราชกิจจานุเบกษา
▫ ข้อมูลยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
▫ สำนักงาน ก.พ.
▫ กรมบัญชีกลาง
▫ กฤษฎีกา
▫ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย
▫ ข้อมูลการวางแผน การจัดทำงบประมาณ
▫ สำนักงาน ก.พ.ร.
▫ Protect The King
▫ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารจังหวัดภูเก็ต
▫ ศตส. จ.ภูเก็ต
▫ เหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต
▫ ตำแหน่งงานว่าง จ.ภูเก็ต
▫ กอ.รมน.ภาค ๔ สน. / พตท.
▫ การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
▫ การจัดการความรู้
▫ รับสมัครองค์กร เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิ์ เสนอชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ 3
▫ ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ
▫ Basic Anti Virus
▫ แป้นพิมพ์ลัดใน windowsXP
▫ การจับภาพหน้าจอ
▫ ใช้คอมฯอย่างมีประสิทธิภาพ
▫ วิธีดูแลคอมพิวเตอร์
Copyright © 2001-2010 Phuket Provincial Governor's Office. All right resered
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถนนนริศร อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
โทร: 076-222886, 076-354875 | E-mail: [email protected]
Design by Indigo Media co.,Ltd