ข่าวประชาสัมพันธ์ :: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554
สรุปพระราชดำริ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะข้าราชการกรมชลประทาน เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมสมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
-----------------------------------------
ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมชลประทาน เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๕ โครงการ และขอรับพระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางการเชิญเสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช นั้น
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ได้พระราชทานพระราชดำริ ดังนี้
๑. การดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๕ โครงการ
๑.๑ เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในภาคกลางและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการก่อสร้าง ที่ได้ก่อสร้างด้วยความรวดเร็ว และได้ก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามปกติโครงการในภาคกลางนี้โอกาสที่จะก่อสร้างเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องที่ดิน หรือปัญหาที่ราษฎรไม่ยินยอมให้ส่วนราชการเข้าดำเนินการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งว่าได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทางเฮลิคอปเตอร์ ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ต้นน้ำที่มีความอันตรายของคลองท่าด่าน ได้รับสั่งกับประชาชนในท้องที่ให้เข้าถึงผลประโยชน์ของโครงการฯ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนเห็นถึงความจำเป็นที่จะทำโครงการในการบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ในจังหวัดนครนายก และพื้นที่ที่ราบภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล และในปัจจุบันโครงการฯ ได้ใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมาย
๑.๒ ให้กรมชลประทมนประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนดำเนินงานตั้งแต่การเดินทางเข้าพื้นที่ที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ความร่วมมือของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่รับทราบความสำคัญของโครงการ ต่างก็ให้ความร่วมมือ ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่กรมชลประทานเข้าไปพัฒนา ความยากลำบาก และขั้นตอนต่างๆ ในการก่อสร้างของกรมชลประทานที่ทำให้การก่อสร้างเสร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบและเข้าใจถึงการเสียสละของประชาชนในจังหวัดนครนายก เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม รวมทั้งได้รับสั่งว่า ชื่อ “ขุนด่าน” ที่พระราชทานชื่อเขื่อนให้นั้น เป็นชื่อของบุคคลในอดีตที่ปกป้องประเทศจากภัยสงคราม จนผู้คนในพื้นที่ให้ความเคารพและยกย่องนับถือ สมควรที่จะโฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบถึงชีวประวัติ และจารึกถึงคุณงามความดีของท่านตราบนานเท่านาน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศว่า “บ้านเมืองของเรายังต้องพัฒนาอีกเยอะ หากไม่พัฒนาจะเสียโอกาส”
๑.๓ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ที่ได้พระราชทานชื่อประตูระบายน้ำปากพนังว่า “อุทกวิภาชประสิทธิ” หมายถึง ประตูที่แบ่งแยกน้ำได้สำเร็จ เพื่อการบริหารจัดการน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำเปรี้ยว ตลอดจนประชาชนที่มีอาชีพที่แตกต่างกันให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิสังคมในลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแบ่งโซนการเลี้ยงกุ้ง และการทำนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๑.๔ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนในการทำมาหากิน สมควรช่วยเหลือ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ ที่บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมให้ลดความรุนแรงลง ได้พระราชทานพระราชดำริให้นำไปขยายผลในภาพพื้นที่คล้ายคลึงกัน เช่น ลำน้ำสงคราม
๑.๕ ให้มีการประชาสัมพันธ์ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง ๕ โครงการ เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบประวัติความเป็นมา การบูรณาการ และการมสีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนประโยชน์ของโครงการเพื่อช่วยเหลือความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงความสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
๒. แนวทางการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการ
๒.๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบให้มีการจัดงานเปิดเขื่อนทั้ง ๕ โครงการ โดยให้กรมชลประทานหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลและโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ รวมทั้งโครงการคลองลัดโพธิ์ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแล้ว
๓. แนวทางการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการ
๓.๑ ให้กรมชลประทานพิจารณาแนวทางการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเสริมจากแผนงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยการศึกษาการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ออกทางฝั่งตะวันตก เพื่อเสริมกับการผันน้ำเจ้าพระยาออกทางฝั่งตะวันออก ซึ่งกรมชลประทานได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มีประสิทธิภาพ
๓.๒ ทรงชื่นชมประโยชน์ของโครงการคลองลัดโพธิ์ที่สามารถเพิ่มการไหลของน้ำให้ออกทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการเกิดอุทกภัยได้อย่างมาก โดยไม่ต้องสูบน้ำ สามารถประหยัดงบประมาณในการสูบน้ำได้มาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยลงจากอดีตได้มาก ได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ประโยชน์จากคลองลัดโพธิ์มากขึ้น
๓.๓ มีรับสั่งถึงประโยชน์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีส่วนในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมา ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้เร่งก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในที่ราบภาคกลาง โดยเร่งรัดการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปิดกั้นลำน้ำสะแกกรัง ขนาดความจุ ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กรมชลประทานมีแผนจะก่อสร้างเขื่อน
๓.๔ ทรงให้ความสำคัญต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับพื้นที่และระดับบริหารที่มีส่วนในการบริหารจัดการอาคารชลประทานที่อยู่ติดทะเลหรือแม่น้ำ ที่ระดับน้ำได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล เช่น คลองชายทะเล ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “เราต้องดูจังหวะการเปิด-ปิดประตูน้ำ เปิดสำคัญเท่ากับปิด ปิดสำคัญเท่ากับเปิด ทำให้ประหยัด” ทรงให้ความสำคัญต่อการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถบริหารการเปิดปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อประหยัดพลังงาน กำลังเจ้าหน้าที่ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
เอกสารประกอบ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง